ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
|||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
มาตรา 1665 เมื่อผู้ทำพินัยกรรมจะต้องลงลายมือชื่อตามมาตรา ๑๖๕๖, ๑๖๕๘, ๑๖๖๐ จะให้เสมอกับลงลายมือชื่อได้ ก็แต่ด้วยลงลายพิมพ์นิ้วมือโดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนในขณะนั้น
|
|||||||||
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8687 - 8688/2558 พินัยกรรมมีลายมือชื่อพยานสองคนและไม่มีกฎหมายห้ามมิให้พยานในพินัยกรรมเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือในขณะเดียวกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าพยานในพินัยกรรมทั้งสองเป็นบุคคลต้องห้าม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1670 การที่ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อและพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้า ช. กับ ห. เมื่อบุคคลทั้งสองลงลายมือชื่อรับรองไว้ในขณะทำพินัยกรรม ตามมาตรา 1665 พินัยกรรมจึงถูกต้องตามแบบและสมบูรณ์ตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4136/2529 พินัยกรรมแบบธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1656ซึ่งผู้ทำพินัยกรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือไว้พยานรับรองพินัยกรรมโดยลงลายพิมพ์นิ้วมือย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1656และ1666 พินัยกรรมซึ่งผู้ทำพินัยกรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือไว้มีพยานรับรองพินัยกรรมสองคนคนหนึ่งลงลายพิมพ์นิ้วมืออีกคนหนึ่งลงลายมือชื่อและมีพ.ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ปกครองท้องที่เมื่อปรากฏว่าพ.อยู่รู้เห็นการทำพินัยกรรมมาแต่ต้นจนกระทั่งผู้ทำพินัยกรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองพินัยกรรมที่สมบูรณ์คนหนึ่งแล้วพ.จึงลงลายมือชื่อในฐานะผู้ปกครองท้องที่แม้จะไม่ได้เขียนคำว่าพยานไว้ท้ายชื่อของพ.ก็ถือได้ว่าพ.เป็นพยานรับรองพินัยกรรมอีกคนหนึ่งเพราะพยานในพินัยกรรมไม่จำต้องเขียนคำว่าพยานไว้ท้ายชื่อเป็นแต่เพียงมีข้อความให้เห็นได้ว่าเป็นพยานก็ถือว่าเป็นพยานในพินัยกรรมแล้วพินัยกรรมจึงสมบูรณ์(อ้างฎีกาที่363/2492) พยานที่ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมขณะทำพินัยกรรมไม่จำต้องลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมอีกหนหนึ่งเพราะถือได้ว่าพยานทำหน้าที่สองฐานะคือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา9,1665และตามมาตรา1656(อ้างฎีกาที่111/2497) ฎีกาโจทก์ที่ว่าพินัยกรรมแบบธรรมดาจะต้องมีลายมือชื่อผู้เขียนกำกับไว้และระบุด้วยว่าเป็นผู้เขียนประเด็นดังกล่าวน่าจะต้องได้รับการวินิจฉัยโดยลึกซึ้งเป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องอย่างใดเพียงแต่เสนอความเห็นว่าน่าจะต้องได้รับการวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ให้ลึกซึ้งเท่านั้นเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2082/2529 พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองที่ผู้ทำลงลายพิมพ์นิ้วมือและมีผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานสองคนกับมีปลัดอำเภอรักษาราชการแทนปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอเป็นผู้จัดทำและลงลายมือชื่อด้วยแต่มิได้ประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1655(4)นั้นเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ในฐานะที่เป็นพินัยกรรมธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1656และมาตรา1665. คดีไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์แต่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นเป็นการไม่ชอบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนนี้ไม่มีผลการที่จำเลยฎีกาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้มาอีกจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249ศาลฎีกาไม่รับวินจฉัย. คำแก้ฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ศาลฎีกาพิพากษานอกเหนือจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้นต้องกระทำโดยยื่นคำฟ้องฎีกาจะเพียงแต่ขอมาในคำแก้ฎีกาหาได้ไม่.
|